ตลาดน้ำมันที่ปั่นป่วนบวกกับมาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจตะวันตก

11

ตลาดน้ำมันจะยังเผชิญหน้ากับแนวโน้มของความไม่แน่นอน ในปี 2558 ขณะที่ ราคาน้ำมันที่ดิ่งลงอย่างรุนแรง อันเป็นผลเนื่องมาจากอุปทานล้นตลาด ก็ส่งผลให้เกิดความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์การเมืองในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่ด้วย ทั้งนี้ ราคาน้ำมันไหลรูดลงต่อเนื่องประมาณครึ่งหนึ่งตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยนอกจากจะเกิดจากอุปทานที่มากล้นแล้ว ยังมีสาเหตุมาจากค่าเงินดอลลาร์แข็ง และอุปสงค์ลดลง ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังซวนเซ

การร่วงลงอย่างรวดเร็วของราคาน้ำมัน เกิดขึ้นในปลายเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา เมื่อองค์การประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน หรือโอเปก ซึ่งรับผิดชอบในการผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดโลก คิดเป็น 1 ใน 3 ตัดสินใจไม่ปรับลดกำลังการผลิต แม้ว่า ปริมาณน้ำมันจะล้นตลาดก็ตาม ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดลอนดอนและนิวยอร์ก ไหลรูดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี นอกจากนี้ ราคาน้ำมันยังดิ่งลงไม่หยุด จากการที่ทั้งโอเปกและสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นหน่วยงานตรวจสอบพลังงานโลก ออกมาคาดการณ์ว่า อุปสงค์น้ำมันในปี 2558 จะลดลงอีก

ในการประชุมของโอเปกเมื่อวันที่ 27 พ.ย. ที่ผ่านมา ซาอุดีอาระเบีย ประเทศที่ผลิตน้ำมันรายใหญ่สุด และประเทศมหาเศรษฐีน้ำมันในอ่าวเปอร์เซียทั้งหลาย ต่างคัดค้านการลดเพดานการผลิตน้ำมันในแต่ละวันของโอเปก ซึ่งอยู่ที่ 30 ล้านบาร์เรลต่อวัน บรรดานักวิเคราะห์ กล่าวว่า โอเปกต้องการให้ราคาน้ำมันลดลง แม้ว่ามันจะทำให้รายได้สูญหายไปจำนวนมหาศาลก็ยอม เพื่อตอบโต้การเพิ่มขึ้นของการผลิตหินน้ำมันของสหรัฐ ซึ่งมีราคาแพงกว่าในการผลิต และกำลังเข้ามาแย่งส่วนแบ่งของตลาดโอเปก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนอื่น ๆ ประเทศผู้ผลิตน้ำมันอีกหลายชาติ ทั้งเวเนซุเอลา, ไนจีเรีย, อิหร่าน, อิรัก และรัสเซีย ต่างก็ผิดหวังไปตาม ๆ กันกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ไม่กระเตื้องขึ้น เพื่อให้พวกเขาสามารถจัดงบประมาณสมดุล และกอบกู้เศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ในเวเนซุเอลา ราคาน้ำมันดิบที่ดิ่งลงต่อเนื่อง ก็จุดชนวนให้เกิดความวุ่นวายของสังคม และความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศไปแล้ว

หลังการประชุมของโอเปก ประธานาธิบดีนิโคลัส มาดูโร ผู้นำเวเนซุเอลา ได้สั่งให้รัฐบาลของเขาหั่นงบประมาณของประเทศที่พึ่งพารายได้จากการขายน้ำมัน และเศรษฐกิจกำลังอ่อนปวกเปียก เช่นเดียวกับรัสเซีย ตลาดน้ำมันที่ปั่นป่วน บวกกับมาตรการคว่ำบาตรเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจตะวันตก อันเนื่องมาจากความขัดแย้งในยูเครน ทำให้ค่าเงินรูเบิลดำดิ่งอย่างหนัก ราคาน้ำมันดิบที่ร่วงลงตั้งแต่เดือน มิ.ย. ทำให้รัสเซียตกอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากเป็นพิเศษ เพราะครึ่งหนึ่งของรายได้ประเทศมาจากการส่งออกพลังงาน ธนาคารกลางรัสเซียตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยถึง 2 ครั้งในสัปดาห์เดียวในช่วงต้นเดือน ธ.ค. อันเป็นความพยายามที่จะหยุดยั้งการดิ่งลงของรูเบิล ซึ่งผลที่ตามมาก็คือการปรับขึ้นราคาครั้งใหญ่ของสินค้าบริโภค