Tag: น้ำมันปาล์ม

แนวทางการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจน้ำมันปาล์มการเพื่อรองรับผลกระทบจาก AEC

Image.aspxผู้ประกอบการในธุรกิจน้ำมันปาล์มจำเป็นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตน้ำมันปาล์ม ของไทยทั้งระบบ ตั้งแต่ในระดับเกษตรกรผู้ปลูก โรงสกัดและโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ โดยเน้นการลดต้นทุน และเพิ่มปริมาณผลผลิตที่ได้จากการผลิต เพื่อให้ราคาจำหน่ายสามารถแข่งขันได้กับน้ำมันปาล์มน้ำเข้า ดังนี้

– เกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ควรให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการเพาะปลูก เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูง เช่น การเลือกพื้นที่เพาะปลูกที่เหมาะสมทั้งทาง ด้านภูมิประเทศ (ใกล้แหล่งน้ำ สภาพดินร่วนปนดินเหนียว) และสภาพภูมิอากาศ (อากาศชุ่มชื้น มีฝนตกชุก มีช่วงฤดูแล้งสั้น มีอุณหภูมิประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส) รวมถึงการคัดเลือกพันธุ์ ในการเพาะปลูกที่มีอัตราการให้น้ำมันสูง การศึกษาระยะเวลาในการใส่ปุ๋ยและประเภทของปุ๋ยที่ใส่ในแต่ละช่วงอายุของต้นปาล์ม การตัดแต่งทางใบ ตลอดจน การวางแผนเพาะปลูกปาล์มน้ำมันทดแทนต้นเก่าที่มีอายุมากซึ่งจะให้ปริมาณผลผลิตลดลง

– โรงสกัดน้ำมันปาล์มดิบ ควรเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพในการรวบรวมวัตถุดิบ (ผลปาล์มน้ำมัน) และการสกัดน้ำมันปาล์มเพื่อให้อัตราการให้น้ำมัน เพิ่มขึ้น โดยอาจพัฒนาการสกัดน้ำมันแยกระหว่างเนื้อในปาล์มและเนื้อปาล์ม สำหรับโรงสกัดที่มีขนาดใหญ่อาจหาแนวทางในการลดต้นทุนการผลิต โดยการนำของเศษปาล์มที่เหลือ จากกระบวนการสกัด (by product) เช่น กะลาปาล์ม ทะลายปาล์ม เส้นใยปาล์ม ไปผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงาน อีกทั้งยังเป็นการลดต้นทุนในการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ของปาล์มอีกด้วย

– โรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ นอกจากที่ผู้ประกอบการควรจะเพิ่มประสิทธิภาพในการกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์แล้ว ควรเน้นการบริหารจัดด้านการขนส่งสินค้า (น้ำมันปาล์ม) ไปยังคลังสินค้าของผู้ค้าปลีกรายใหญ่และโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันปาล์มในการผลิต เพื่อลดต้นทุนในการขนส่ง ซึ่งปัจจุบันนับว่ามีต้นทุนในส่วนนี้สูงถึงประมาณ ร้อยละ 20

นอกจากนี้ กลุ่มผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้งโรงกลั่น โรงสกัด รวมถึงสมาคมและสหกรณ์การเกษตรในระดับท้องถิ่นต่างๆ ควรติดตามสถานการณ์การผลิต การจำหน่ายและราคา และความต้องการน้ำมันปาล์มในตลาดโลกอย่างต่อเนื่อง เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนการผลิต การตั้งราคา และการกระจายสินค้าไปสู่ตลาด รวมถึงการศึกษา และทำความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรการที่สามารถช่วยบรรเทา/ลดผลกระทบจากการเปิดการค้าเสรีการค้าสินค้าเกษตร คือ มาตรการป้องกันการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard Measure: SG) ตามข้อผูกพันไว้กับ WTO ซึ่งเปิดโอกาสให้ประเทศผู้นำเข้า (ที่ได้รับผลกระทบ) สามารถใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อคุ้มครองอุตสาหกรรมภายในประเทศที่ได้รับความเสียหาย หรือมีแนวโน้มที่จะได้ รับความเสียหายจากการนำเข้าที่เพิ่มมากขึ้นมากกว่าปกติ

โดยสรุป ปัจจุบัน น้ำมันปาล์มเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่ไทยยังคงใช้มาตรการที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ โดยระบุให้การนำเข้าน้ำมันปาล์มจะต้องมีการขออนุญาตนำเข้า (Import License) ตามความเหมาะสมของสถานการณ์ โดยในการที่ไทยจะก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) หนึ่งในข้อผูกพัน จะต้องลด/ขจัดมาตรการกีดกันที่ไม่ใช่ภาษีที่ใช้ในประเทศ ซึ่งหากไทยจำเป็นต้องยกเลิกมาตรการขออนุญาตนำเข้า จะส่งผลต่ออุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มไทยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะทางด้านของผู้ผลิต ได้แก่ เกษตรกร โรงสกัดและโรงกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เนื่องจากการผลิตน้ำมันปาล์มของไทยในปัจจุบัน ยังมีจุดอ่อนทางด้านต้นทุนการผลิต ทำให้ราคาน้ำมันปาล์มในประเทศสูง กว่าประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ อย่างเช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งอาจส่งผลให้น้ำมันปาล์มจากประเทศดังกล่าวเข้ามาแข่งขันกับน้ำมันปาล์มในประเทศมากขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคจะเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการแข่งขันของผู้ผลิต ที่จะส่งผลให้ราคาน้ำมันปาล์ม รวมถึงสินค้าที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบราคามีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตาม การเตรียมรับมือกับการก้าวเข้าสู่การเป็น AEC ในอนาคตเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับกลุ่มผู้ที่อาจได้รับผลกระทบ ทั้งนี้ เกษตรกรและผู้ประกอบการควรเร่งแนวทางเพื่อลดต้นทุนการผลิต ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้น้ำมันปาล์มไทยสามารถแข่งขันได้ในอาเซียน