แนวโน้มด้านราคาน้ำมันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามตลาดโลก

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันในประเทศไทย ได้แก่ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดโลก ค่าพรีเมียมและปรับคุณภาพน้ำมัน ราคาไบโอดีเซล ราคาเอทานอล ภาษีฯ กองทุนน้ำมันฯ และค่าการตลาด อย่างแรกเลยที่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปมีอุปสงค์และอุปทานคนละกลุ่มจึงอยู่คนละตลาดกัน แต่การเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันดิบกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปมักจะมีทิศทางเดียวกัน แต่จะไม่เปลี่ยนแปลงเป็นสัดส่วนที่เท่ากันพอดี ทำให้ค่าการกลั่นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แล้วแต่สภาพตลาดน้ำมันในขณะนั้นเป็นความเสี่ยงที่โรงกลั่นน้ำมันต้องรับไป

ราคาที่เป็นเนื้อน้ำมันคือราคาหน้าโรงกลั่นมีการเปลี่ยนแปลงตามราคาตลาดโลกเป็นไปตามกลไกตลาด แต่ส่วนอื่นๆที่ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามตลาดโลก ได้แก่ ภาษีต่างๆ กองทุนน้ำมันฯ และค่าการตลาด ฯลฯ นอกจากนี้ด้วยนโยบายของกระทรวงพลังงานในรัฐบาลชุดนี้ทำให้สามารถใช้หนี้กองทุนน้ำมันฯ โดยเก็บเพิ่มเติมจากน้ำมันดีเซลมาเป็นเงินสำรองเพื่อใช้รักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันหากเกิดราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นในอนาคต และสามารถนำไปใช้เพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทนอีกด้วย ในส่วนของค่าการตลาดนั้นช่วงที่ราคาน้ำมันขาลงค่าการตลาดมักจะเพิ่มขึ้นมาชดเชยในส่วนที่ผู้ประกอบการรับภาระไว้ตอนช่วงราคาน้ำมันขาขึ้นที่ค่าการตลาดมักจะถูกบีบให้น้อยกว่าปกติ ก็ขึ้นอยู่กับกระทรวงพลังงานจะพิจารณาถึงความเหมาะสมและเป็นธรรมต่อทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ

ทิศทางราคาน้ำมันดิบปี 2558 จะลดลงอยู่ที่ 90-95 เหรียญต่อบาร์เรล จากปีนี้ที่คาดว่าจะเฉลี่ยกว่า 100 เหรียญต่อบาร์เรล เนื่องจากยังอยู่ในสภาวะอุปทานล้นตลาด ประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถผลิตน้ำมันได้สูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ลดการพึ่งพาการนำเข้าได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้น้ำมันดิบจากแอฟริกาไม่สามารถส่งเข้าสหรัฐได้ จึงต้องลดราคาเพื่อแข่งขันกับกลุ่มโอเปก และขยายเข้าสู่ตลาดเอเชียแทน ประกอบกับกลุ่มโอเปกสามารถเพิ่มผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องจากซาอุดีอาระเบีย และการกลับมาของอิรัก ลิเบีย และอิหร่าน ที่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาโครงการนิวเคลียร์ ส่งผลให้ตลาดอุปทานน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง

การที่ประเทศนอกกลุ่มโอเปกจะลดการผลิตลงไปนอกจากราคาจะเป็นปัจจัยหนึ่งแล้วการวางแผนการลงทุนยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ต้องมีการวางแผนล่วงหน้าและไม่สามารถยกเลิกได้อย่างกะทันหันจึงต้องอาศัยเวลาอย่างน้อย 2-3 เดือนจึงจะมีการปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป สาเหตุที่กลุ่มโอเปกระบุว่าจะขอเวลาอย่างน้อย 3 เดือนเพื่อประเมินสถานการณ์ก่อนที่จะพิจารณาว่ามีความจำเป็นจะต้องเรียกประชุมฉุกเฉินในไตรมาสแรกของปีหน้าเพื่อพิจารณาว่าจะทบทวนเรื่องโควตาการผลิตหรือไม่